top of page

การทำงานที่ดีเริ่มต้นจากปัญหา

ฟังหัวข้อแล้วอาจจะงงๆ ว่าบล็อกวันนี้ผมมาแปลกหรืออย่างไร แต่พอดีวันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับน้องในทีมที่ลองทำพรีเซนเตชั่นมาเสนอแผนงานและผมได้แนะนำเทคนิคบางอย่างไป ประกอบกับการอ่านหนังสือการคิดเชิงกลยุทธ์ – Strategic Thinking เมื่อวันก่อนด้วยเลยเป็นประเด็นเล็กๆ เอามาพูดคุยกันในบล็อกวันนี้

ที่ผมบอกว่าการทำงานที่ดีเริ่มต้นจากปัญหานั้น ไม่ใช่ว่าทำงานให้มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ถ้าเรามาคิดๆ ดูแล้ว โปรเจคงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจคภายนอกเพื่อขายงานลูกค้า หรือโปรเจคภายในบริษัทเพื่อพัฒนาองค์กรนั้น ไม่ใช่แค่การคิดว่าอยากทำอะไร อยากขายอะไร แต่ควรเริ่มต้นจากการมองให้เห็น “ปัญหา” หรือ “ประเด็น” ซึ่งเป็นที่มาของโปรเจคให้ชัดเจนเสียก่อน

ทุกวันนี้ เรามักเห็นโปรเจคหรือไอเดียต่างๆ มากมาย (โดยเฉพาะในยุค Startup เกิดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด) ซึ่งหลายโปรเจคก็ดูจะเวิร์ค ในขณะที่บางโปรเจคก็แป๊กสนิทไปแม้ว่าจะมีพร้อมกับไอเดียสวยหรูและเทคโนโลยีเวอร์ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว หลายๆ อย่างที่ดูเหมือนจะเวิร์คแต่กลับไม่เวิร์คก็มาจากการที่มันไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยอยู่บนพื้นฐานของปัญหาหรือประเด็นอย่างที่บอกนี่แหละ

ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะการเริ่มต้นโปรเจคต่างๆ นั้นจำเป็นต้องเข้าใจให้ขาดเสียก่อนว่าโปรเจคนั้นๆ ทำขึ้นเพื่ออะไร หลายโปรเจคทำขึ้นมาโดยยังไม่เข้าด้วยซ้ำว่าทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อะไรเป็นหลัก บ้างก็เพียงแค่เห็นโน่นเห็นนี่น่าสนใจก็เลยทำตาม (เช่นการเปิด Facebook Page หรือ Twitter Account ของแบรนด์ต่างๆ) ซึ่งพอไม่มีหลักให้ยึดแล้ว สุดท้ายก็ออกทะเลหลงทางเสียเวลาเปล่าไปก็เยอะ

การวิเคราะห์ตัวปัญหาให้เจอนั้นจะเป็นตัวช่วยสำคัญมากว่าเรากำลังพัฒนาหรือเดินไปเพื่ออะไร ซึ่งถ้าจะอธิบายแบบกำปั้นทุบดินง่ายๆ โปรเจคต่างๆ นั้นก็เพื่อการแก้ปัญหาที่ถูกระบุในตอนต้น และในปลายทางแล้วเราก็หวังจะเห็นว่าปัญหาในได้หายไปนั่นเอง

เมื่อเราระบุปัญหาได้แล้ว เราก็จะมองเห็นว่าปลายทางที่เราต้องการคืออะไร ซึ่งในระหว่างทางนั้นเองที่เราจะเป็นคนเลือกเส้นทางและวิธีการแก้ปัญหาอันแตกต่างกันออกไป (ซึ่งนั่นก็คือ “กลยุทธ์”)

ในประสบการณ์ของผมนั้น หลายๆ โปรเจคที่ผ่านตาผมไปเริ่มมาด้วยไอเดียทำโน่นทำนี่ จะสร้างสิ่งต่างๆ ซึ่งผมก็มักย้อนถามไปว่าสร้างไปทำไม มันตอบโจทย์อะไร มันแก้ปัญหาอะไร ซึ่งหลายครั้งก็พบว่าสิ่งที่คิดมานั้นไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะมันไม่ได้เป็นปัญหาหรือประเด็นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งพอเป็นเช่นนี้จึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้คิดจะหลงประเด็นจนกลายเป็นฟุ้งไปเสีย

ลองคิดกันดูเล่นๆ ก็ได้ครับว่าทุกครั้งที่คุณวางแผนอะไรสักอย่างนั้น คุณจะมีปัญหาหรือความต้องการบางอย่างเป็นพื้นฐานก่อนแล้ว เช่นคุณไม่ต้องการไปทำงานสาย คุณเลยวางแผนจะตื่นเช้าขับรถไปทำงาน คนที่คุณชอบยังมองไม่เห็นคุณ คุณเลยวางแผนจะสร้างให้เขาประทับใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้แผนการต่างๆ ชัดเจนถึงปัญหาและปลายทางที่อยากจะไป

การทำงานหรือสร้างสรรค์ผลงานก็เช่นเดียวกัน มันคือการทำงานเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง เราเพียงต้องหามันให้เจอ ระบุมันให้ชัด และใช้มันเป็นแกนหลักเพื่อไล่ความคิดมาจนถึงกลยุทธ์และเป้าหมายปลายทางให้ได้

ซึ่งถ้าทำได้แล้ว เราก็จะได้เห็นกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานที่ดี อันจะพาเราไปสู่การประสบความสำเร็จในงานที่ทำเองนั่นแหละครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page