top of page

จะทำตามคนอื่น…แล้วเรามี “คน” เหมือนเขาหรือเปล่า?

หนึ่งในปัญหาที่ผมมักได้ยินเสียงบ่นบ่อยๆ จากคนทำงานเมื่อปรับทุกข์กันเรื่องแนวคิดของผู้บริหารนั้น ก็คือการพูดทำนองว่า

“นายไปฟัง / อ่านหนังสือมา แล้วอยากทำตามที่เขาบอกมา โดยไม่ได้ดูว่าคนของเราพร้อมไหม”

อันที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในปัญหาคลาสสิคของการบริหารเหมือนกัน โดยเฉพาะในยุคที่เรามีชุดความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน มีการอัพเดทเทรนด์และแนวคิดการบริหารแบบใหม่เข้ามาเต็มไปหมด เช่นเดียวกับการตั้งคำถามหรือหักล้างแนวคิดการบริหารธุรกิจและการตลาดแบบเก่า และนั่นทำให้หลาย ๆ องค์กรคิดเรื่องที่จะ “คิดใหม่ ทำใหม่” หรือไม่ก็ดู Success Case แล้วดูว่าเราจะทำอะไรตามเขาได้บ้าง

เอาจริง ๆ แล้วการ “ทำตาม” มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหรอกครับ และสำหรับผมแล้ว การลอกเลียนแบบมันก็เป็นการเรียนรู้แบบพื้นฐานของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่เราอาจจะต้องพึงระวังเมื่อเข้าสู่บริบทของการทำธุรกิจนั้น ก็คือปัจจัยสำคัญที่ชื่อว่า “คนทำงาน” นั่นแหละ

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเอาจริงๆ บรรดาตำราธุรกิจต่าง ๆ ก็ถูกอ่านโดยคนจำนวนมาก แต่ก็จะมีทั้งคนที่ทำสำเร็จ และก็มีหลายคนที่ทำแล้วล้มเหลว มีการถอดรหัสวิธีคิดของหลายบริษัทชั้นนำอย่าง Netflix Amazon Apple Disney Toyota แต่ก็จะพบว่าน้อยบริษัทที่จะสามารถทำตามแบบนั้นได้ (แถมเผลอๆ ทำแล้วไม่เข้าท่าอีกต่างหาก)

สาเหตุที่มันไม่เป็นไปตามแบบที่เราทำตามนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ “คน” ขององค์กรเราไม่ได้เหมือนกับคนขององค์กรที่เราไปทำตาม ตัวอย่างที่ผมมักยกบ่อยๆ คือธุรกิจญี่ปุ่นนั้นมีแบบแผนบางอย่างที่ชัดเจน แต่นั่นจะทำงานได้ดีขีดสุดก็ต่อเมื่อทำงานด้วยคนญี่ปุ่น หากพนักงานเป็นชาติอื่นแล้วมันก็อาจจะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่เหมือนกัน แต่มันไม่ได้เอาหัวใจของระบบนั้นมาด้วย ก็เหมือนกันหลายร้านที่ตอนไปญี่ปุ่นเราประทับใจมากๆ แต่พอมาเมืองไทยแล้วเรารู้สึกว่ามัน “ขาดอะไรบางอย่าง” แม้ว่ามันจะใช้ระบบบริหารแบบเดียวกันก็ตาม

นั่นจึงเป็นสิ่งที่ผมมักเตือนผู้บริหารที่ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนด้วยบ่อยๆ ว่าหลายตำราที่เขียนขึ้นมา การถอดบทเรียนชั้นนำมานั้น เราได้ทฤษฏีมาก็จริง เราได้ “วิธีการทำ” มาก็ใช่ แต่เราอาจจะลืมมองสิ่งที่เรียกว่า “หัวใจ” และเป็นสิ่งสำคัญมากของการสร้างระบบนั้นสำหรับตัวบริษัทต้นแบบที่เรากำลังเรียนรู้อยู่นั่นแหละ

ตอนนี้เรามีหนังสือพูดถึงวิธีคิด วิธีการทำงานตามบริษัทชั้นนำต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องดีมากที่เรามีกรณีศึกษาให้เห็นเยอะขึ้นถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงาน แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมตั้งคำถามและมองหาคำตอบไปด้วย ก็คือ “คน” ขององค์กรนั้น ๆ ตั้งแต่คนของเขาเป็นอย่างไร เขาสร้างคนอย่างไร หรือเขาบริหารคนอย่างไร นั่นเองล่ะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page