top of page

ทำงานแบบแบรนด์ดัง ๆ คือสิ่งที่เราควรทำจริง ๆ หรือ?

วันก่อนผมเห็นพี่ผู้บริหารท่านหนึ่งพูดถึงหนังสือเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการบริหารงานจากบริษัทชื่อดังที่หลาย ๆ คนยกว่าเป็นแนวทางการบริหารชั้นเยี่ยมที่ทำให้บริษัทความสำเร็จมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็จะเชิดชูและบอกว่าเป็นแนวคิดใหม่ แตกต่าง และได้ผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมตามมา ไม่ว่าจะเกิดผลิตภัณฑ์ที่พลิกวงการ รายได้มหาศาล ฯลฯ

แต่พี่ผู้บริหารท่านนี้พูดไปในทาง “ตะหงิด ๆ” คือไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด และบางอย่างอาจจะฟังดูแหม่ง ๆ

ผมเลยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมไปว่า อันที่จริงแล้ว บรรดาหลักการบริหาร แนวทางการสร้างบริษัทต่าง ๆ ที่มักจะกลายเป็นหนังสือธุรกิจขายดี ไม่ว่าจะเป็นบริษัท N แบรนด์ A สินค้า S ยี่ห้อ T ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่พูดไปใคร ๆ ก็รู้จักนั้น มันก็มีองค์ความรู้ที่ดีอยู่ เพราะแน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้เลือกที่จะทำอะไรบางอย่างต่างไปจากคนอื่น ๆ เพื่อนำมาสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป (ซึ่งก็คือความสำเร็จแบบที่เราว่ากันเนี่ยแหละ) แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันแลกกลับมาด้วยอะไร เพราะหนังสือที่ยกบริษัทเหล่านี้มาเป็น Case Study นั้นมักจะพูดถึง “แง่ดี” หรือ “ผลดี” จากการบริหารแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้พูดถึงด้านมืดที่ถ้าไม่ตามข่าว ไม่ได้ไปคุยกับคนข้างในจริง ๆ ก็อาจจะไม่ได้รู้ว่ามีโลกแบบนี้ด้วย

ที่ว่านี่ไม่ใช่บอกว่าบรรดาความรู้การบริหาร เรื่องราวการสร้างองค์กรที่หนังสือเหล่านี้พูดเป็นเรื่องไม่ดีอะไรนะครับ ผมเชื่อว่ามันเป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ ถ้ารู้จักนำมาปรับใช้หรือถ้าเราอยากจะเดินตามบริษัทเหล่านี้ แต่ถ้าเราเป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของบริษัทแล้ว เราก็ต้องรู้เสมอว่าเหรียญมันมีสองด้าน สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นผลในแง่ดีและแง่ไม่ดี การได้มาซึ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมก็อาจจะแลกมาพร้อมกับการทำงานแบบบ้าเลือด การรีดประสิทธิภาพอย่างหนักจนทำให้คนเครียดจัด ๆ ได้เหมือนกัน (ถ้าใครลองอ่านการพัฒนา iPhone จะรู้ดีว่าช่วงการเร่งให้ iPhone เสร็จตามที่ Apple วางไว้นั้นตึงเครียดสุด ๆ กันเลยทีเดียว) และนั่นอาจจะเป็นผลลัพธ์อีกด้านที่เราเองก็ต้องถามเหมือนกันว่าเราอยากได้แบบนั้นกับองค์กรของเราหรือเปล่า?

ตัวอย่างที่ผมยกมาใช้บ่อย ๆ คือการได้คนเก่งมาทำงาน ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็อยากได้แหละ แต่ถ้าเกิดคนเก่งนั้นเก่งสุด ๆ แต่กลับมนุษยสัมพันธ์แย่สุด ๆ เราได้งานที่มีคุณภาพ ได้งานเยอะ แต่คนทำงานรอบข้างเต็มไปด้วยบรรยากาศ Toxic มากนั้น เราจะโอเคไหม? ถ้าเราทำงานที่ได้เงินเยอะ ๆ ทุกคนรวยกันเพราะรายได้งาม แต่มาพร้อมกับการทำงานที่ตึงเครียด กดดันสุด ๆ เราโอเคไหม?

ซึ่งแน่นอนว่ามันมีทั้งคนที่โอเคและคนที่ไม่โอเคแหละครับ เพราะแต่ละคน แต่ละองค์กรให้ความสำคัญและมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน หลายธุรกิจทำเพราะอยากได้กำไรเยอะ ๆ อยากได้ชื่อเสียง อยากได้ความก้าวหน้าก็จะคิดแบบหนึ่ง บางธุรกิจเน้นยั่งยืน กำไรไม่เยอะ แต่คนทำงานสบายใจ ไม่เดือดร้อน แต่ก็ไม่ถึงกับสุขสบาย​ ซึ่งพอเราให้คุณค่าที่ไม่เหมือนกันแล้ว เราก็จะสร้างองค์กรที่แตกต่างกันออกไป

ไม่มีอะไรผิด หากแต่สิ่งที่เราทำนั้นไปทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่เราคิดหรือไม่ และนั่นคือสิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ หรือเปล่า?

พาร์ทเนอร์ผมเคยพูดไว้ว่าการจะทำให้รวยมีหลายวิธี แต่คำถามคือเราอยากรวยจริง ๆ หรือเปล่า? หรือรวยที่ว่าคือขนาดไหน? และองค์กรเราอยากเป็นแบบไหน? นั่นคือวิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารจะต้องเป็นคนเลือกเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของบริษัทเพื่อให้วิสัยทัศน์นั้นเกิดขึ้นจริง

ฉะนั้นแล้ว ก่อนที่จะเลือกกระโดดตามกระแสว่าต้องทำงานแบบบริษัทนั้น ๆ อยากมีวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ เราอาจจะต้องมองบริบทต่าง ๆ โดยรอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เข้าใจว่าจะเกิดผลอะไรตามมา องค์กรจะต้องรับมือกับอะไร จะมีผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เรายอมรับและอยากได้หรือไม่

เช่นนั้นเองล่ะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page