top of page

ศักดิ์ศรี…สิ่งค้ำคอจนก้มหัวไม่เป็น

สองสามวันนี้ผมใช้เวลาอ่านหนังสือ Executive Power ของ Dr. David J Lieberman และหยิบบางส่วนมาแนะนำกันก่อนหน้านี้แล้วเรื่องเทคนิคการวิจารณ์เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้อง

อีกหนึ่งข้อคิดทางจิตวิทยาที่ผมค่อนข้างสนใจและเตะตาจาหนังสือดังกล่าวคือ “ศักดิ์ศรี” ที่ถูกพูดถึงว่ากลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงและเปิดใจยอมรับของหลายๆ คน

คำว่า “ศักดิ์ศรี” มองในแง่ดี ก็คงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยค้ำตัวตนของแต่ละคนไว้ ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่องจริยธรรมและความถูกต้องแล้ว ศักดิ์ศรีก็มักเป็นสิ่งที่เรามักหยิบมาใช้ชั่งใจและหวลถามตัวเองอยู่หลายๆ ครั้ง แต่ก็นั่นแหละที่ศักดิ์ศรีก็อาจจะเป็นดาบสองคมสำหรับคนที่ยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป

ศักดิ์ศรี เกิดจากการคิดว่าตัวเรานั้นเป็นใคร มีฐานะอะไร อยู่ในตำแหน่งไหน อยู่ในระดับไหน ซึ่งนั่นกลายเป็นเหมือนกรอบความคิดและแนวทางการใช้ชีวิตของแต่ละคนพอสมควร อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนก็ตั้งศักดิ์ศรีเอาไว้เสียสูง บ้างก็เอามาเถิดไว้บนหัวจนก้มหัวไม่เป็น ศักดิ์ศรีสำหรับหลายๆ คนกลายเป็นประหนึ่ง Ego ที่หักได้แต่ไม่ยอมงอ

ความน่ากลัวคือถ้าเราเอาศักดิ์ศรีมานำหน้าตัวเราแล้ว มันก็จะกลายเป็นการยากที่เปิดรับหรือพูดคุยกับผู้อื่นได้ เพราะก็คิดกันไปเสียหมดว่าเราเป็นคนระดับนี้แล้ว เรารู้มากกว่า เราเก่งกว่า ฯลฯ พอเป็นอย่างนี้ คนอื่นพูดอะไรก็ไม่มีค่า ไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าสนใจไปเสียหมด ต่อให้เขาเสนอสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา ศักดิ์ศรีก็ดันกลายเป็นกำแพงกั้นไม่ให้สารเหล่านั้นเข้าถึงตัวเราได้

หนังสือ Executive Power ยังบอกเลยว่าศักดิ์ศรีนี่เองที่เป็นตัวปัญหา ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถพูดคุยกันให้รู้เรื่องได้ และเป็นสิ่งอันดับต้นๆ ที่ต้องจัดการก่อนเรื่องอื่น

และในขณะเดียวกัน ศักดิ์ศรีนี่เองที่ทำให้มีเรื่องมีราวกันมานักต่อนัก ถึงขั้นตายกันแบบนักเลงประเภทฆ่าได้หยามไม่ได้มาก็ไม่น้อย

ถ้าเราลองคิดไปในทางพุทธศาสนาดู ศักดิ์ศรีนี่เองก็เป็นสิ่งที่หลอกให้เราหลงยึดมั่นถือมั่น พอใครมาเตะนิดต้องหน่อยก็โมโหกันเป็นฟืนเป็นไฟ ส่วนหนึ่งก็เพราะหลายคนได้เป็นใหญ่เป็นโต ได้เชิดหน้าชูตาก็เพราะศักดิ์ศรีเช่นกัน เช่นเป็นถึงกูรูวงการโน้น เป็นอาจารย์วงการนี้ เป็นผู้ใหญ่วงการนั้น ศักดิ์ศรีเกิดขึ้นจากการยึดกับสิ่งเหล่านี้จนทำให้หลายๆ คนลำพองตัวกันใหญ่โต

ในการทำงานก็ไม่ต่างกัน เชื่อว่าเราก็เจอคนที่แบกศักดิ์ศรีนี้กันมากมาย

“ชั้นเป็นลูกค้า” “ชั้นเคยทำงานให้แบรนด์โน้นมา” “งานของชั้นเคยได้รางวัล” บลา บลา บลา และสิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เพื่อนร่วมงานหรือคนที่ต้องทำงานด้วยเบื่อหน่ายกันได้ง่ายๆ

การประสบความสำเร็จหรือได้มีประสบการณ์จากในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ดี ควรนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นความรู้และพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่เอาสิ่งเหล่านั้นมากลายเป็นเบาะรองให้ตัวเองสูงจนทำตัวเหนือคนอื่นๆ

และสุดท้ายก็ไม่มีใครจะอยากแหงนหน้าไปคุยด้วย

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page