top of page

สิ่งที่ลูกค้าควรทำ เพื่อช่วยให้เอเยนซี่ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับเอเยนซี่นั้นจะคือโหมดของลูกค้ากับคนที่ถูกจ้าง แต่จริงๆ แล้วการทำงานระหว่างสองฝั่งนี้ก็สามารถ “ช่วยกัน” เพื่อให้งานออกมาดีได้ (ซึ่งเอาจริงๆ มันดีกว่าโหมด “สั่ง” แล้ว “นั่งรอ” อยู่แล้วล่ะครับ)

จากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยทำงานทั้งฝั่งแบรนด์และฝั่งเอเยนซี่ด้วย ผมเลยลองสรุปเรื่องสำคัญๆ ที่คนเป็น “ลูกค้า” ควรเตรียมตัวเพื่อช่วยให้เอเยนซี่ “รับไม้” และเอางานไปทำต่อได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้ครับ

1. เข้าใจสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำ

ปัญหาแรกๆ ที่มักจะเจอคือลูกค้าที่บรีฟงานนั้นยังไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร จะทำอะไร หวังผลอะไร หรือคาดหวังจะเกิดอะไรขึ้น (จริงๆ) จนกลายเป็นเหมือนบรีฟให้คน “ทำงาน” โดยไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม เช่นต้องการยอดขาย ต้องการสร้างการรับรู้ ต้องการแก้ภาพลักษณ์ ฯลฯ เรียกได้ว่าแค่เรื่อง Marketing Objective หรือ Business Objecitve ก็ยังตอบกันไม่ได้แน่ชัด คนทำงานเอเยนซี่ก็กลายเป็นว่าต้องไปเดากันว่าแบรนด์ต้องการอะไร แถมถ้าตีโจทย์ผิด ชิ้นงานหรือไอเดียที่ทำขึ้นมาก็จะออกไปคนละทางกับสิ่งที่ควรเป็นอีก

สิ่งที่ผมมักจะแนะนำคนทำงานบ่อยๆ คือคนตั้งต้นบรีฟต้อง “เข้าใจปัญหา” ให้ชัดเสียก่อน เพราะการที่เราจะให้เอเยนซี่ทำงานให้นั้น ก็คือการให้เขาไปช่วยเราแก้ปัญหา แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร เอเยนซี่ที่มาทำต่อก็คงยากจะไปรู้แทนเรา (หรือก็อาจจะไม่สามารถรู้ดีไปกว่าเราได้)

ฉะนั้นแล้ว ก่อนที่จะทำการบรีฟอะไรสักอย่าง ขอให้คิดให้รอบคอบและชัดเจนว่าปัญหาของคุณคืออะไร คุณต้องการแก้ปัญหาอะไร เพื่อที่มันจะเป็น “เป้าหมายร่วม” ระหว่างแบรนด์กับเอเยนซี่นั่นเอง

2. บรีฟงานให้เป็น เตรียมของให้ครบ

ข้อนี้เป็นอีกจุดบอดหนึ่งที่มักกลายเป็นเสียงบ่นจากเอเยนซี่ (หรือแม้แต่การบ่นข้ามแผนกในบริษัทเอง) เพราะคนบรีฟเล่นบรีฟงานกันแบบลอยๆ ไม่เคลียร์ว่าจะเอาอะไร หรือไม่ได้ระบุสิ่งที่จำเป็นมาใช้ประกอบการทำงาน เช่นแบรนด์ของเราเป็นแบบไหน เราต้องการสื่อสารเรื่องไหนเป็นประเด็นหลัก / รอง (และไม่ใช่ทุกอย่างเท่ากัน) โฟกัสกลุ่มเป้าหมายไหนเป็นกลุ่มหลัก Insight อื่นๆ ที่มีประกอบเพื่อให้คนที่รับงานไปนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในการคิดงานได้

หลายๆ คนอาจจะบอกว่าตรงนี้อย่าให้เอเยนซี่เยอะ เดี๋ยว “ไม่ได้ทำงาน” แต่เอาจริงๆ ผมกลับมองว่าการให้ของที่จำเป็นกับคนทำงานย่อมช่วยทำให้เขาเอาเวลาที่มีอยู่ไปโฟกัสงานอื่นที่จำเป็น ดีกว่าการที่เขาต้องมัวไปทำเรื่องที่ไม่จำเป็นหรือเสียเวลา (เช่นครีเอทีฟควรไปโฟกัสกับการคิดไอเดียสร้างสรรค์ มากกว่าไปนั่งเก็บข้อมูลบางอย่างซึ่งจริงๆ แบรนด์อาจจะมีอยู่แล้ว)

ด้วยเหตุนี้ การจะบรีฟงานอะไรนั้น คนบรีฟจึงควรจะรู้ด้วยว่าคนที่มารับงานไปทำต่อนั้นจำเป็นต้องมีอะไรในมือบ้าง อะไรที่จะช่วยให้เขาทำงานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งนั้นก็ควรจะเตรียมเอาไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในภายหลัง

(สำหรับคนที่สนใจว่าการบรีฟควรมีข้อมูลอะไรบ้างนั้น ทาง Google เคยทำแบบฟอร์ม Creative Brief ไว้ซึ่งดีมากๆ สามารถดาว์นโหลดได้ที่นี่ https://goo.gl/mUr2TA )

3. ช่วยคอมเมนต์ที่จำเป็น และหยุดคอมเมนต์ที่ไม่จำเป็น

หนึ่งในสิ่งที่สร้างความเหนื่อยหน่ายคนทำงานทุกๆ คน (และทุกฝั่ง) คือช่วงของการคอมเมนต์งานที่เกิดขึ้น ซึ่งจุดนี้ผมมักพูดเสมอว่าคนทำงานต้องรู้ว่าอะไรควรคอมเมนต์และอะไรไม่ควรคอมเมนต์

จริงอยู่ว่าการคอมเมนต์งานนั้นมีจุดประสงค์ให้งานดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงเรากลับพบว่าการคอมเมนต์งานหลายครั้งกลับทำให้งานแย่ลง ไม่ว่าจะเสียเวลามากขึ้น งานช้ากว่ากำหนด การทำให้สับสน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ผมถึงมักเตือนหลายๆ คนว่าการคอมเมนต์งานคือจุดสำคัญมากของการทำงานจริง ซึ่งเราต้องรู้จักการคอมเมนต์ให้มีประสิทธิภาพ เช่น

  1. เอาคนที่ “จำเป็น” และ “รู้” มาคอมเมนต์พอ คนที่ไม่จำเป็น ไม่รู้เรื่อง หรือคอมเมนต์ไม่เป็นก็ไม่ควรยุ่ง

  2. คอมเมนต์โดยอยู่บนพื้นฐานว่าเอาไปทำงานต่อได้จริง ไม่ใช่แค่คอมเมนต์สนองอารมณ์คนพูด

  3. คอมเมนต์โดยเข้าใจบริบทต่างๆ เช่นงบประมาณ เวลาที่มี ฯลฯ ไม่ใช่คอมเมนต์แบบไปเรื่อยออกทะเล

  4. รับผิดชอบกับคอมเมนต์ที่ให้ไว้ ไม่ใช่พูดอย่างแล้วอีกวันพูดอย่าง

  5. คอมเมนต์ให้เคลียร์ว่าจะเอาอะไร มีปัญหาตรงไหน ทำไมต้องการให้แก้ไข ซีเรียสขนาดไหน

เอาจริงๆ ยังมีเรื่องอีกเยอะที่ลูกค้าสามารถ “ช่วย” เอเยนซี่ทำงานได้ ซึ่งที่ยกมาวันนี้เป็นแค่เรื่องเบาะๆ ในชีวิตจริง ก็หวังว่าจะเอาไปลองคิดแล้วปรับใช้กันดูนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page