top of page

เมื่อ WFH กลายเป็นสาเหตุทำให้พนักงาน Burnout

แม้ว่าช่วงแรก ๆ จะมีการพูดว่า WFH นั้นมีข้อดีตรงที่พนักงานเองสามารถทำงานได้โดยไร้สิ่งรบกวน ไม่ต้องเดินทางให้เสียเวลา พนักงานหลายคนพบว่า WFH ทำให้ตัวเองมี Productivity มากขึ้นแถมเทคโนโลยีในปัจจุบันก็เอื้อให้บริษัททำ WFH ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปนั้นก็พบว่า WFH กำลังกลายเป็นการทำงานที่ทำให้คนอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) เครียด และนำไปสู่การลาออกได้มากยิ่งกว่าการทำงานแบบเดิม ๆ เสียอีก

ประเด็นนี้ผมเองก็มีการพูดคุยกับเพื่อนบ่อย ๆ ว่าพนักงานหลายคนตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อกับการทำงาน แถมก็ไม่ได้มีช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ก็เลยไม่มี “ตัวฟื้นฟู” หรือ “ตัวช่วย” พยุงความรู้สึกเหนื่อยล้าและเครียด จนทำให้ภาวะเครียดสะสมเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม อีกทั้งการทำงาน WFH โดยขาดความเข้าใจและพยายามจะทำงานให้ได้เหมือนกับทำงานที่ออฟฟิศนั้นกลายเป็นอันตรายกับคนทำงานเสียด้วยซ้ำ

ในการศึกษาของ Adobe เรื่อง The Future of Time โดยดูผลกระทบของการเปลี่ยนมาทำงานผ่านดิจิทัลนั้นทำให้จิตใจของพนักงานเป็นอย่างไรทำให้พบกับพฤติกรรมการทำงานหลายอย่างที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย

1. เวลาส่วนตัวของพนักงานหายไป

ทั้งนี้เพราะเวลาส่วนตัวถูกปรับให้กลายเป็นเวลางาน พื้นที่บ้านซึ่งเคยเป็นพื้นที่ส่วนตัวก็กลายเป็นพื้นที่ทำงานไป พนักงานหลายคนพบว่าตัวเองทำงานยาวนานขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนยังมีชั่วโมงการเดินทางคั่นเวลาในการใช้ชีวิต แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าหลายคนทำงานตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน แรงกดดันของออฟฟิศกับการให้พนักงาน “ต้องตามตัวได้เสมอ” กลายเป็นแรงกดดันแฝงจนทำให้พนักงานไม่ได้อยู่ในสภาพพักแต่อย่างใด เพราะต้องเช็คทั้งอีเมล์ LINE และพร้อมจะต้องเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อตอบ / ประชุมอยู่ตลอด

2. ความกดดันจาก Burnout

ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนก็ทำให้หลาย ๆ คนต้องพะวงกับความมั่นคงของตัวเองโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ซึ่งแรงกดดันนั้นถูกส่งต่อไปยังพนักงานเพื่อพยายามเร่งทำงานให้ได้ผลทางธุรกิจมากที่สุด นั่นนำมาซึ่งแรงกดันหลายต่อ อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากการที่ต้องรับมือกับครอบครัว บางคนต้องดูแลลูกไปพร้อมกับการทำงานด้วย ซึ่งความเครียดเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่เผาความรู้สึกและพลังของคนทำงานได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันการรักษาความรู้สึกต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงไปอย่างเช่นการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน การได้ผ่อนคลายในบรรยากาศการทำงานต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเกิดภาวะ Burnout อย่างรวดเร็ว

3. การเริ่มมองหาการทำงานที่ดีกว่า

ในการศึกษานั้นพูดถึงกรณีของกลุ่ม Gen-Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่แรกเริ่มทำงานจะมีความเห็นในเชิงที่จะเปลี่ยนงาน ลาออกเพื่อใช้ชีวิตการทำงานที่ดีกว่านี้โดยพวกเขาต้องการงานที่สามารถออกแบบตารางชีวิตได้อิสระมากขึ้น นั่นก็เป็นผลจากเรื่องของ Work-Life balance ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาของ WFH

จากประเด็นเหล่านี้เอง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กรว่าจะหาวิธีอย่างไรมารับมือกับพนักงานที่กำลังเจอภาวะย่ำแย่ทั้งกายและจิตใจจากการ WFH ซึ่งนั่นก็อาจจะต้องหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีบางอย่างมาช่วยให้การทำงานนั้นรวดเร็วขึ้น ลดการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นกว่าเดิม โดยเน้นว่าให้การทำงานได้ผลตามที่ตั้งไว้แต่ไม่ต้องทำเยอะเท่าเดิม เพราะการพยายาม “ทำเท่าเดิม” ในบริบทที่ไม่เอื้อกับการทำงานนั้นก็เป็นการบีบคั้นให้พนักงานทำมากกว่าปรกติจนนำมาสู่ปัญหาอย่างที่กล่าวไว้นั่นเอง

ผู้ที่สนใจตัวรายงาน The Future of Time สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.adobe.com/…/reports/the-future-of-time.html

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page