top of page

เมื่อต้อง “รับ-ส่ง” ปัญหา


การเจอปัญหาในการทำงานแทบจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน และหลายๆ ครั้งมันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเราต้องรับมันเพียงคนเดียว หากแต่ต้องส่งต่อหรือกระจายการรับปัญหาไปให้คนอื่นๆ ด้วย ทั้งในแผนกเดียวกันหรือต่างแผนก

แต่การส่งต่อปัญหาในหลายๆ ครั้งมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการส่ง Email บอกให้อีกฝ่ายหนึ่งแล้วก็จบๆ กันๆ เพราะถ้าทำแบบนั้นแล้ว ก็คงมิวายที่จะเกิดปัญหาบานปลายตามมาทีหลังอีกเป็นแน่

สำหรับตัวผมเองและประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งการเป็นแนวหน้าของทีมเพื่อรับปัญหาต่างๆ เป็นด่านแรก และเป็นด่านหลังที่ต้องถูกโยนปัญหามาให้ ไอ้ประเภทที่บางคนเรียกว่า “เผือกร้อน” หรือถึงขั้น “ขี้” กันเลย มันทำให้ผมนึกย้อนเปรียบเทียบสถานการณ์แบบนี้กับหนึ่งใน Exercise ที่ทำในวิชา Acting นั่นคือการ “รับ-ส่ง” และการ “ล้ม-รับ”

Exercise แรกคือการที่เราจะต้องรู้สึกเหมือนกำลังแบกของชิ้นหนึ่งอยู่ จากนั้นก็จะต้องโยนและส่งต่อไปให้อีกคนที่ยืนล้อมวงกัน ฝ่ายรับก็จะต้องรู้ว่าใครกำลังส่งมาให้ รอรับและส่งให้คนอื่นต่อไปเรื่อยๆ ส่วน Exercise ที่สองคือการที่คนสองคนยืนตรงข้ามกัน คนหนึ่งหันหลังให้อีกคน หลับตา และค่อยๆ ทิ้งตัวเพื่อให้คนข้างหลังรับ ซึ่งคนข้างหลังต้องพยายามรับคนข้างหน้าไว้ไม่ให้ล้ม แต่ถ้าจะไปอีกระดับหนึ่งก็จะให้คนยืนล้อมเป็นวงกลมโดยคนตรงกลางทิ้งน้ำหนักให้คนรอบๆ รับและประคองไม่ให้ล้ม

การจะ “ส่ง” ให้คนอื่น จำเป็นจะต้องดูว่าเขาพร้อมจะ “รับ” หรือไม่ การที่คนจะล้มให้คนข้างหลังรับ ก็ต้องเช็คว่าคนข้างหลังพร้อมจะรับเราหรือเปล่า ไม่ใช่ทิ้งตัวลงโดยไม่สนใจคนข้างหลัง เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้น ภาระจะตกอยู่กับคนข้างหลังมากเกินไปจนอาจจะเกิดอันตรายได้

หลายๆ ครั้งที่การทิ้งตัวให้คนข้างหลังรับนั้นเกิดความผิดพลาด เพราะไม่เช็คว่าอีกฝั่งพร้อมจะรับหรือไม่ บางครั้งก็ใช้พลังงานเกินจริงเพราะไม่ได้เตรียมตัว ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าคนข้างหลังอยู่ในหลักที่มั่น ให้เวลาเขาเตรียมพร้อม แม้คนข้างหน้าจะมีน้ำหนักเยอะ เขาก็พร้อมจะยันและรับเราได้

มันก็เหมือนการแก้ปัญหา ถ้าคนที่รับปัญหามาเป็นด่านหน้าไม่สนใจความพร้อมของคนที่จะรับไปต่อแต่โยนภาระแบบขอให้พ้นตัว คนที่รับต่อก็อาจจะเกิดความไม่พอใจเอาได้ทั้งที่จริงๆ งานอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก หรือไม่บางครั้ง การโยนภาระปัญหาต่อโดยไม่ดูว่าอีกคนพร้อม ก็กลายเป็นการทำร้ายอีกคนเกินความจำเป็น

ฉะนั้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและต้องส่งต่อให้คนอื่นต่อนั้น จำเป็นต้องดูความพร้อมหลายๆ อย่างว่าอีกฝ่ายอยู่ในภาวะไหน จะสักแต่โยนให้โดยไม่เหลือบตามองเลยคงไม่ได้ เพราะถ้าเกิดวันหนึ่งอีกฝ่ายไม่รับปัญหาแล้ว ปัญหาก็จะตกอยู่ในที่ว่าง ไม่ถูกแก้ หรือสุดท้ายแล้วคนที่จะส่งก็ต้องแบกรับไว้เองโดยไม่มีคนส่งต่อ

หลายๆ ครั้งที่เราเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักหน่วง ถ้าเราเอาแต่ปัดปัญหาไปให้อีกคนก็คงไม่ดี บางครั้งก็แบ่งรับ ลดความหนักของปัญหา ซื้อเวลาเล็กน้อยให้คนที่รับต่อพร้อม ก็อาจจะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพกว่าโยนออกจากตัวทันที

การแก้ปัญหาที่ต้องใช้หลายคนช่วย ก็จำเป็นที่จะต้องทำ “ร่วมกัน” เพราะเมื่อปัญหาจบ คนในทีมที่ร่วมแก้ปัญหาก็จะก้าวผ่านไปด้วยกันทั้งหมด แต่ถ้าคิดจะขอให้ตัวเองรอดปัญหาไปได้แต่คนข้างหลังไปไม่ได้แล้ว ท้ายที่สุดปัญหาก็ไม่ได้แก้ มีแต่ทำให้ทั้งทีมต้องประสบปัญหาหนักกว่าเดิมเสียอีกก็ได้

หรือไม่…เราก็จะไม่เหลือใครมาช่วยแก้ปัญหาอีกในอนาคต

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page