top of page

เมื่อผู้บริหารพลิกวิกฤตเป็นหายนะ

หลายๆ ครั้งที่องค์กรเจอปัญหา เจอสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีจนเข้าขั้นที่เรียกว่าวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการโดนดราม่า การเกิดคดีความ การโดนโจมตีต่างๆ หรือแม้แต่สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ผลประกอบการที่ตกลงๆ

แน่นอนว่าเมื่อเจอแบบนี้เข้าไป คนในองค์กรก็ล้วนหันไปมองผู้นำว่าจะพาองค์กรผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปให้ได้ และกลายเป็นงานสำคัญที่ผู้นำจะต้องเรียกความเชื่อมั่นและพาให้องค์กรผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปให้ได้

เอาล่ะ นั่นคือทฤษฏีที่เราพูดกันบ่อยๆ ในคลาส Leadership เพราะเป็น “สิ่งที่ควรจะเป็น” แต่เอาเข้าจริงแล้วเราอาจจะพบสถานการณ์ตรงกันข้าม เพราะผู้นำหลายคนนั้นแทนที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสแล้วกลับกลายเป็นทำให้วิกฤตนั้นแย่หนักกว่าเดิม เละเทะกว่าเดิม จนหลายๆ ครั้งถึงขั้นหายนะเลยก็ว่าได้

ถ้าเราจะพูดกันในเรื่องการตัดสินใจแล้ว แน่นอนว่ามันก็คือการบอกว่าผู้บริหารนั้นมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด เลือกจะลงมืออะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะทำอันนำมาสู่สถานการณ์ที่แย่ลงไปยิ่งกว่าเดิม

ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น? เท่าที่เราเห็นจากหลายๆ สถานการณ์ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเจอมา หรือการอ่านเคสธุรกิจมา ก็พอจะสรุปเป็นสาเหตุ (น่าห่วง) ได้ดังนี้ล่ะครับ

1. มั่นใจตัวเองมากเกินไป

การเป็นผู้บริหารระดับสูงนั้น มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่ที่มันมักจะมาในแบบคลื่นใต้น้ำที่หลายคนไม่รู้ตัวก็คือการสะสมของ Ego เพราะยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงเท่าไรก็ย่อมมีลูกน้องมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น ถูกยกว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มีคนเชื่อฟังทำตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นตะกอน Ego ที่ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนในไม่ช้าก็จะกลายเป็นความมั่นใจในตัวเองที่สูงมากสำหรับหลายๆ คน

และด้วยความมั่นใจที่สูงมากนี้เอง ทำให้หลายคนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจนั้นถูกเสมอ (เพราะไม่ค่อยมีใครค้าน มีแต่คนเห็นด้วย) จนทำให้คิดไม่รอบ ไม่มองปัจจัยอื่นๆ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดเอาได้ง่ายๆ

2. การไม่มองว่าเป็นปัญหา

เมื่อเราพูดถึงวิกฤตใดๆ แล้ว มันก็เกิดขึ้นจากปัญหาหรือความผิดพลาดต่างๆ แต่ก็นั่นเองที่ผู้บริหารหลายคนเลือกจะไม่มองว่าเป็นปัญหาอะไร ทุกอย่างปรกติดี หรือไม่ก็เป็นปัญหาเล็กน้อย ไม่ได้ร้ายแรงอะไร (และจากประสบการณ์ของผมนั้น บรรดา Crisis ต่างๆ ก็มักจะเกิดจากไอ้เรื่องเล็กน้อยที่ว่าเนี่ยแหละ)

ทำไมผู้บริหารหลายคนถึงไม่มักมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา? ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะเขาไม่อยากยอมรับว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นภายในการดำเนินการที่เขานำ ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่เกิดจากความผิดพลาดในการตัดสินใจหรือให้ความเห็นจากผู้บริหารคนนั้นๆ ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งยากที่จะยอมรับแล้วปรับแก้ไขกันเลยทีเดียว เพราะนั่นเท่ากับการยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด และคิดว่าผลต่อความน่าเชื่อถือ ทำลายภาพลักษณ์ตัวเอง เป็นต้น

3. ลูกขุนพลอยพยัก & ที่ปรึกษาที่เสมอกัน

อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่มักจะเห็นแล้วพาให้ผู้บริหารไปไม่ถึงไหนเช่นกัน เพราะดันฟังคนรอบข้างที่เห็นอกเห็นใจ เห็นด้วยกับเรื่องที่ทำ ไม่มีใครเป็นคนคอยค้านหรือเตือน (หรือไม่ก็เอาคนแบบนั้นออกไปจากวงของตัวเอง) ซึ่งนั่นก็เลยทำให้หลายๆ องค์กรที่ผู้บริหารมีบรรดาลูกน้องที่เอาอกเอาใจ สรรเสริญนายแบบไม่ลืมหูลืมตาก็มักจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ได้ง่ายเพราะก็ไม่มีใครกล้าพูดเตือนนายอะไรทั้งนั้น

ส่วนกรณีบางคนก็อาจจะหาที่ปรึกษา หาคนในระดับเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ด้วย Ego บางคนก็เลยเลือกที่จะหาที่ปรึกษาประเภทที่เห็นด้วยกับที่ตัวเองทำ ไม่อยากได้ที่ปรึกษาประเภทคอยค้าน คอยท้วงติง มันก็เลยทำให้มุมมองที่ได้จากที่ปรึกษานั้นไม่ได้ทำให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้น เห็นสถานการณ์รอบด้านมากขึ้น หากแต่เป็นแค่การช่วย Reconfirm ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูก ดีแล้วไปเสีย

ที่สรุปมานี้น่าจะเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้นำหลายคนพลิกวิกฤตเป็นหายนะ (หนักกว่าเดิม) ซึ่งก็เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆ นั่นเอง

ก็หวังว่าเราจะเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้กับตัวเราเองนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page