top of page

เรื่องน่าฉุกคิดจาก Facebook ที่ล่มไป 6 ชั่วโมง

หลังจากเหตุการณ์ที่แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Facebook Instagram และ Whatsapp ไม่สามารถใช้งานได้ร่วมกว่า 6 ชั่วโมงจนทำให้เกิดความวุ่นวายมากพอสมควร ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและภาคธุรกิจที่ใช้ช่องทางเหล่านี้สื่อสาร ทำแคมเปญต่าง ๆ นั่นก็เลยอาจจะทำให้เราต้องฉุกคิดและทบทวนกันเสียหน่อยว่ามีอะไรที่เราชะล่าใจไปหรือเปล่า และเหตุการณ์นี้อาจจจะทำให้เราต้องระวังการทำงานในหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน

Content Marketing

สาย Content Marketing ออกมาพูดในทำนองคล้ายกันจากเหตุการณ์นี้ว่าเราไม่ควรฝากตัวคอนเทนต์ไว้บนแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ของเรา (พูดง่าย ๆ คือเอาไปฝากบนพื้นที่ของคนอื่นนั่นแหละ) เพราะถ้าหากเกิดเครือข่ายพวกนี้ล่มก็จะทำให้คอนเทนต์ของเราไม่สามารถเข้าถึงได้ทันที ลองนึกสถานการณ์ที่จู่ ๆ เพจหรือช่องโดนปิด โดนบล็อก โดนแฮ็ค ซึ่งนั่นมีความเสี่ยงมาก ๆ ในขณะที่หลายสื่อยังมีเว็บไซต์ของตัวเองซึ่งด้วยแบรนด์ที่คนติดตามจำได้ทำให้สามารถติดตามอ่านข่าวสาร รับข้อมูลได้อยู่แม้ว่าอาจจะมี Traffic น้อยกว่าปรกติก็ตาม

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการเตือนสื่อและแบรนด์ต่าง ๆ ให้มีช่องทางอื่นควบคู่ไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Social Media อื่น ๆ สำหรับการแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพราะขนาด Facebook เองก็ยังต้องใช้ช่องทางสื่ออื่นอย่าง Twitter เพื่อบอกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าหากแบรนด์เรามีช่องทางหลักเพียงช่องทางเดียวโดยไม่มีทางอื่นสำรองไว้เลยก็อาจจะมีความเสี่ยงหากเกิดกรณีแบบนี้ในอนาคต

Ad & Campaign

การที่ Facebook ใช้งานไม่ได้อยู่เกือบ 6 ชั่วโมงนั้นอาจจะไม่กระทบกับคนไทยเท่าไรเพราะอยู่ในช่วงที่เรากำลังนอน แต่ฝั่งตะวันตกที่เป็นเวลาทำงานน่าจะเป็นเรื่องปวดหัวอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้าคิดว่านี่คือช่วงวันจันทร์ วันทำงาน และเป็นต้นเดือนด้วยซึ่งคงมีหลายแบรนด์กำลังจะปล่อยแคมเปญ ปล่อยคอนเทนต์ต่าง ๆ ซึ่งก็คงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย

สิ่งนี้อาจจะเตือนนักการตลาดถึงเรื่องการปรับตัวรับสถานการณ์ที่ผิดคาด คนทำงานต้องพร้อมกับการปรับเปลี่ยน ยกเลิก เลื่อนแคมเปญบนโลกออนไลน์อันมาจากเหตุการณ์ลักษณะนี้ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ใช่เรื่องของ Facebook ล่มแต่มาจากเหตุการณ์ทำนองเดียวหรือที่ส่งผลคล้าย ๆ กันเช่นการเกิดภัยธรรมชาติจนทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงบริการไม่ได้ เป็นต้น

Crisis Management

เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยว่าถ้าคนจำนวนมากใช้ช่องทาง Facebook Messegner / Whatsapp เป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร ทำงานกันนั้นจะรับมือกับช่วงเวลานี้อย่างไร? ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเรามักใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในการคุยและประสานงานกันไม่ว่าจะผ่าน Online Meeting, Chatroom, Collaboration Tool ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้เกิด “ร่วง” ขึ้นมาจะเกิดความวุ่นวายเอามาก ๆ แถมถ้าเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤตก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ

สิ่งที่องค์กรและทีมทำงานอาจจะต้องคิดเผื่อกันว่าถ้าหากมีเหตุ​ฉุกเฉินแล้วนั้น เราจะต้องมีช่องทางการสื่อสารและทำงานอย่างไรทั้งแบบ Digital / Analog สำหรับเหตุที่ไม่คาดฝัน ลองคิดว่าถ้าสมมติสัญญาณเนตล่มหมดแล้วจะคุยกันอย่างไร? เพราะในหลายสถานการณ์อาจจะไม่สามารถรอให้เกิดการกู้คืนกลับมาได้

นั่นคือคร่าว ๆ ที่ผมคิดเร็ว ๆ ว่าเราน่าจะเรียนรู้และคิดสักนิดกับเหตุการณ์ใหญ่ ไม่ใช่ให้มันผ่านไปเรื่อย ๆ แล้วก็คิดว่ามันคงไม่เกิดขึ้นอีก

แต่เหนืออื่นใด ผมอยากให้เราลองถามกันสักนิดว่าช่วงที่เรารู้ว่า Facebook ร่วงไปนั้น เราเป็นอย่างไร? เรากระวนกระวายไหม? เรารู้สึกหงุดหงิดหรือเปล่า? เราพยายามหยิบมือถือมา Refresh อยู่เรือย ๆ หรือเปล่า?

หรือเราไม่รู้สึกอะไร? สามารถใช้ชีวิตไปได้เรื่อย ๆ ไม่ได้ติดใจอะไรมากนัก?

ที่พูดแบบนี้เพราะอยากให้คิดดูเสียว่าวันนี้ Facebook เป็นส่วนหนึ่งของเราขนาดไหน? เราติดมันแค่ไหน? และถ้าเราติดมันมากไป…มันเป็นอันตรายกับเราหรือไม่? ก็ลองให้คิดกันดูนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page