top of page

เหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมหลายคนไม่สามารถพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้

จากบล็อกก่อนหน้านี้ผมเล่าเรื่องเคล็ดลับการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพจาก Carmine Gallo ไปแล้ว ในช่วง Q&A นั้นผมก็เลยถามเขาต่อว่าจริงๆ ทฤษฏีการสื่อสารหรือเทคนิคต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่หลายคนรู้กัน เรื่องของการใช้ Storytelling ก็เป็นสิ่งที่ถูกหยิบมาพูดกันเยอะมาก (จนผมว่ากลายเป็นเรื่องเฝือไปแล้วด้วยซ้ำ) แต่ทำไมเราไม่ค่อยเห็นคนทำได้กัน

Carmine Gallo ฟังคำถามผมแล้วก็ยิ้มๆ ก่อนบอกว่าเรื่องนี้สามารถตอบได้ด้วยคำ 2 คำ

“It’s Hard” (“มันยาก” นั่นแหละฮะ)

เรื่องนี้เขาอธิบายเพิ่มเติมเพราะการจะสร้างทักษะการเล่าเรื่องและวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เพียงแค่เรา “รู้” เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องผ่านการฝึกฝนและทดลองมาพอสมควร คนที่จะเป็น Journalist เองก็ไม่ได้จะเป็นได้ในทันที แต่ต้องผ่านการเรียนและลองผิดลองถูกอยู่นานจนสั่งสมกลายเป็นประสบการณ์และทักษะประจำตัวได้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่คนทำงานหลายอาชีพอย่างเช่นแพทย์ นักการตลาด นักธุรกิจ จึงไม่สามารถลุกขึ้นมากลายเป็นนักพูดที่เก่ง เป็นคนพรีเซนต์งานที่ดี และกลายเป็นคำทำงานด้วยวิธีคิดแบบ Storytelling กันได้ง่ายๆ และนั่นผิดกับคนที่ผ่านงานด้านการเป็นคอลัมน์นิสต์ นักเขียน ซึ่งงานในทุกๆ วันล้วนอยู่กับเรื่องของการสื่อสาร การพยายามถ่ายทอดความคิดออกมา นั่นเลยทำให้คนในประเภทหลังมักจะเป็นนักสื่อสารที่เก่งและสามารถพัฒนาต่อได้เร็วเมื่อรู้เทคนิคเสริมเข้ามา

และด้วยความที่มันยากเนี่ยแหละ ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคย ไม่ได้ถนัดก็ไม่กล้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมของตัวเอง ไม่กล้าลองวิธีใหม่เพราะกลัวความล้มเหลว กลัวว่าจะพลาด ยิ่งถ้าเป็นคนทำงานด้วยแล้วก็จะยิ่งกลัวเสียหน้า กลัวว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์หรือความมั่นคงต่างๆ

เรื่องนี้จริงๆ อาจจะไม่ต้องไปเรื่องของการสื่อสารอะไรหรอกครับ ผมว่าแค่การปรับทัศนคติหรือการเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆ อย่างในชีวิตเราเนี่ยก็อยู่ในตรรกะที่คล้ายๆ กัน ผมก็มักพูดบ่อยๆ ว่าเราทุกคนรู้หมดแหละเรื่องทฤษฏีต่างๆ นานา เราอ่านคำคมแรงบันดาลใจมากมาย เรารู้จักปรัชญาโน่นนี่นับไม่ถ้วน

แต่ทำไมมีไม่กี่คนที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ในขณะที่หลายๆ คนอ่านคำคมสร้างแรงบันดาลใจแต่ก็ยังเลือกจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมล่ะ?

การเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องยากเหมือนกับการพัฒนาตัวเองที่มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพริบตาเพียงแค่บอกว่า “เรารู้แล้ว” เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำจริงนั้น มันต้องจะต้องพบกับความกลัว ความกังวล ประสบการณ์ที่ไม่มั่นคง ฯลฯ ซึ่งจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ตัวเองมีอยู่จนสุดท้ายก็กลับไปใช้วิธีเก่าซึ่งตัวเองถนัดดีกว่า (บางทีผมก็เรียกว่านี่คือกลไกป้องกันตัวเองซึ่งเรามีทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวนั่นแหละครับ)

เอาล่ะ พอมาถึงตรงนี้แล้ว ผมคงต้องฝากคำถามไว้ให้ล่ะครับ ว่าเราจะยอมสู้กับความยากนี้มากแค่ไหน หรือขอกลับไปแบบเก่าที่มันไม่ต้องอะไรเพิ่มเติมให้ดีขึ้นอีกล่ะฮะ ^^

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page