top of page

แม่แบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพประเทศของสิงคโปร์

เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปงาน CommunicAsia 2014 ซึ่งถือเป็นงานแสดงนวัตกรรมด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของภูมิภาคเลยก็ว่าได้ ในงานนั้นเน้นหลักเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการสื่อสาร ตลอดไปจนถึงบริการใหม่ๆ เช่น Big Data หรือการสร้างแอพลิเคชั่นต่างๆ 

แต่หนึ่งบูธที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือบูธที่มาจาก Infocomm Development Authority of Singapore (IDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลของสิงคโปร์ที่ดูแลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีนี้ IDA นำวิสัยทัศน์เรื่อง Infocomm Media in 2025 ซึ่งมีความน่าสนใจมากๆ เกี่ยวแม่แบบที่สิงคโปร์ร่างไว้ว่าจะทำให้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศและสื่อต่างๆ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรรวมทั้งเพิ่มศักยภาพความสามารถทางธุรกิจให้กับบริษัทต่างๆ และนั่นจะทำให้ขีดความสามารถของประเทศสิงคโปร์ได้ได้อีกไกลเลยทีเดียว ซึ่งก็คงจะดีไม่น้อยที่เราจะลองมาเรียนรู้กันดูว่าตอนนี้วิสัยทัศน์และไอเดียของประเทศเพื่อนบ้านเราไปถึงไหนกันแล้ว

ในเนื้อหาของ Infocomm Media in 2015 นั้นค่อนข้างจะมีเนื้อหาอยู่เยอะพอสมควรแต่หัวใจสำคัญๆ คือ 5 แนวความคิดหลักๆ ได้แก่

1. สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน Infocom ที่มีความรวดเร็ว คลอบคลุมและเชื่อถือได้

หัวใจสำคัญของวิสัยทัศน์ข้อนี้คือการที่สิงคโปร์จะทำให้ทั้งประชาชน ธุรกิจ และรัฐบาล สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายอัจฉิรยะได้ “ทุกที่ ทุกเวลา และในทุกๆ อุปกรณ์” ซึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายหลายเครือข่ายเข้าได้กันอย่างมีประสิทธิภาพ (ตรงนี้น่าสนใจเพราะเขามองว่าไม่สามารถมีเครือข่ายเดียวที่จะตอบโจทย์ทุกอย่างได้ แต่ต้องใช้หลายๆ เครือข่ายเข้าด้วยกัน) เช่นเดียวกับที่เครือข่ายต่างๆ นั้นจำเป็นต้องครอบคลุมที่สามารถให้บริการทุกๆ คนในประเทศ รวมทั้งต้องได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของตัวบริการ

ในรายละเอียดของแนวคิดนี้นั้น ให้ความเห็นน่าสนใจว่าโครงข่ายในอนาคตจะอยู่บนพื้นฐานที่ต่างไปจากทักวันนี้ ทั้งนี้เพราะบรรดาอุปกรณ์พกพาต่างๆ (หรือที่เรามักเรียกว่า Smart Devices) นั้นมีมากกว่าเดิมเช่นเดียวกับบริการและข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกสถานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนั่นทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากมายตามมา และนั่นทำให้เกิดแนวคิดของการสร้าง Heterogenous Network (HetNet) เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านเครือข่ายเดิมอย่างเช่นคลื่นความถี่หรือพื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณ

ในอดีตนั้นเครือข่ายสัญญาณมือถือที่ให้บริการ Mobile Internet และ WiFi ต่างๆ นั้นจะทำงานแยกขาดออกจากกันตามผู้ให้บริการและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดและตัดโอกาสของผู้ใช้งานทั่วๆ ไปทั้งที่บรรดา Smartphone และ Tablet สมัยนี้ต่างสามารถเปลี่ยนเครือข่ายต่างๆ ได้อัตโนมัติ ซึ่งเพื่อจะทำให้เกิดความสามารถการเชื่อมต่อแบบ ”ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์” นั้น เครือข่ายต่างๆ จะต้องสามารถเชื่อมต่อกันเป็นเสมือนเครือข่ายเดียวกันได้ ผู้ใช้งานทั่วไปจะสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายที่ดีที่สุดของพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะยังสามารถใช้บริการต่างๆ ของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากเรื่องเครือข่ายที่ครอบคลุมแล้ว ยังมีแผนงานการติดตั้ง Above Ground Box (AG) เพื่อใช้เป็นเครื่องเก็บข้อมูลจำเป็นต่างๆ จากพื้นที่ในเมืองโดยบรรดา AG เหล่านี้จะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์สำคัญๆ เพื่อเก็บค่าต่างๆ ที่สามารถนำมาประมวลผลในการวางแผนพัฒนา รวมถึงบริหารจัดการต่างๆ ในอนาคตได้เช่นค่าอุณภูมิและความชื้นในอากาศ จำนวนคนที่เดินในแต่ละพื้นที่ จำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนน อัตราความเร็วของรถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นข้อมูลไปใช้เพื่อควบคุมระบบจราจร หรือระบบไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ได้ เช่นให้ไฟท้องถนนเปิดหรือปิดตามสภาพอากาศ ณ ตอนนั้น หรือระบบไฟจราจรที่ปรับเปลี่ยนตามข้อมูลอัจฉริยะ

และเมื่อเครือข่ายและการเก็บข้อมูลต่างๆ มีประสิทธิภาพแล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด Data Marketplace ขึ้นเพื่อให้บรรดาผู้ประกอบการต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูต่างๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้สำหรับธุรกิจตัวเอง ซึ่งก็จะมีทั้งในรูปแบบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือฟรี ซึ่งนั่นทำให้ศักยภาพของธุรกิจในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

2. การสร้างภาคธุรกิจ Infocomm ที่เข้มแข็ง

สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ในข้อนี้ว่าจะทำให้ตัวเองเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่ธุรกิจด้าน Infocomm จะสามารถสร้างนวัตกรรมและพัฒนาได้อย่างมีศักยภาพในระดับโลก ทั้งนี้เพราะเมื่อสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เช่นเดียวกับโครงสร้างสังคมและประชากรที่อยู่ในระดับที่มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีต่างๆ แล้ว นั่นทำให้สิงคโปร์กลายเป็นตลาดสำคัญที่บรรดาธุรกิจ Infocomm จะให้ความสนใจในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่นเดียวกับการใช้เป็นฐานในการขยายตลาดสู่เอเซีย

ในประเด็นนี้ จุดที่น่าสนใจคือสิงคโปร์มีแนวคิดที่ชัดเจนในเรื่องการสนับสนุนให้บริษัทที่อยู่ในธุรกิจ Infocomm เพราะจะเป็นทั้งการสร้างงานให้เกิดขึ้นในตลาดเช่นเดียวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีบริษัทประเภท Start-ups SME และ MNC อยู่มากมายในประเทศสิงคโปร์แล้วด้วย

และแม้ว่าสถานการณ์ของบางประเภทธุรกิจอย่าง Start-ups ในสิงคโปร์ที่ยังอยู่ในอันดับไม่ได้ดีนัก แต่สิงคโปร์ก็มีแผนนโยบายที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทกลุ่มนี้ เช่นการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับกลุ่มผู้ลงทุนในบริษัท Start-up ที่ผ่านการคัดเลือก เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้แล้ว ในวิสัยทัศน์ข้อนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องการสร้างสื่อเพื่อรองรับกับบรรดาผู้สูงอายุในประเทศด้วย ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมานั้นหลายๆ คนมักจะมองว่าเทคโนโลยีต่างๆ นั้นถูกออกแบบมาเพื่อตอบสอนงบรรดาคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ทั้งที่จริงๆ แล้วกลุ่มผู้สูงวัยเองก็เป็นประชากรที่มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งเทคโนโลยีเองก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือและทำให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ดีขึ้นได้ อีกทั้งบรรดาบริการใหม่ๆ เหล่านี้ยังมีส่วนทำให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมยุคใหม่มากขึ้น เช่นเรื่องการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ อย่าง Smartphone Tabet หรือการใช้ Video Chat เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ฯลฯ

3. การสร้างบุคลากรในภาคธุรกิจ Infocomm ที่มีทั้งความรู้และความสามารถ

เมื่อมีภาคธุรกิจที่แข็งแรงแล้ว มันก็จำเป็นที่จะต้องมีแรงงานคุณภาพในตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่โตขึ้นเรื่อยๆ และนั่นทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่สิงคโปร์จะสร้างตัวเองให้เป็นประเทศที่มีแรงงานคุณภาพสำหรับธุรกิจ Infocomm

และการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรในประเทศนั้น สิงคโปร์เริ่มทำตั้งแต่ในระดับของนักเรียนโดยเริ่มมีการเรียนการสอนทักษะการเขียนโปรแกรมและทักษะการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างจริงจังตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มีโครงการสนับสนุนเช่น Code for Charity หรือการสร้างชุมชนออนไลน์สำหรับ Infocomm Clubs ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้สิงคโปร์เอง กลายเป็นประเทศที่มีแรงงานด้าน Infocomm มากจนเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ซึ่งก็จะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอีกลำดับหนึ่งนั่นเอง

4. การทำให้ประชากรและธุรกิจได้ใช้บริการของ Infocomm ที่มีศักยภาพ

ถ้าหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วแต่ประชากรในประเทศไม่ได้ใช้มันให้อย่างคุ้มค่าก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนที่เสียเปล่าได้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้แผนแม่บทของ Infocomm Media in 2015 เลยมีการพูดถึงวิธีการที่จะทำให้ประชากรในประเทศได้สัมผัสประสบการณ์และคุ้นเคยกับการใช้งานบริการด้าน Infocomm มากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะหากว่าประชากรคุ้นเคยและปรับพฤติกรรมที่จะใช้บริการด้าน Infocomm มากขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการความต้องการของตลาดก็จะสูงขึ้น ซึ่งก็จะสอดรับกับภาคธุรกิจที่จะขยายตัวควบคู่กันไป

ในประเด็นสำคัญของวิสัยทัศน์นี้ ได้แบ่งออกเป็น 3 ข้อหลักๆ คือเรื่องการวิถีชีวิต การทำงาน และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจและทำให้เห็นภาพว่าอนาคตประชากรจะใช้บริการเหล่านี้เพื่อยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างไร

ตัวอย่างที่แผนแม่แบบนี้เสนอคือการใช้ Infocomm ในการยกระดับคุณภาพด้านสุขภาพ โลจิสติก และชุมชน ดังเช่นการที่ใช้ระบบฐานข้อมูลต่างๆ ช่วยให้เราสามารถสร้างข้อมูลประชากรที่มีประวัติด้านสุขภาพที่ละเอียดมากขึ้นจากการเก็บค่าต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์วัดจำนวนก้าว (อย่างพวก Smartband ต่างๆ) หรือการวัดค่าน้ำหนัก ความดัน จำนวนชั่วโมงที่นอนหลับ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประวัติสุขภาพของประชากรแต่ละคนมีความละเอียดมากขึ้นไม่แพ้กับการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลซึ่งสมัยก่อนมีความยุ่งยากและต้องใช้ระยะเวลา

เมื่อข้อมูลด้านสุขภาพถูกเก็บและจัดระเบียบแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอยติดตามดูอาการป่วย เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนให้กับบุคลนั้นๆ ทราบหากพบว่าเริ่มมีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้น เช่นเดียวกับถ้าบุคคลไหนๆ มีความผิดปรกติกระทันหัน ระบบก็สามารถแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเพื่อทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ในเรื่องของโลจิสติกนั้นก็เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ก็มีการสิ้นเปลืองพลังงานจากการขนส่งสินค้า / เดินทางที่ซ้ำซ้อนอยู่พอสมควร เช่นบุคคลหนึ่งสั่งสินค้าจากร้านค้า 3 ร้านให้ไปส่งที่บ้านของตัวเอง ทำให้ต้องมีรถขนสินค้า 3 คันเดินทางไปพร้อมกัน

แต่ถ้าเกิดระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นฉลาดมากขึ้นแล้ว เมื่อบุคคลหนึ่งสั่งสินค้าจากร้านสามร้าน ระบบก็สามารถใช้วิธีการรวมสินค้าจากทุกร้านเพื่อทำการจัดส่งด้วยรถเที่ยวเดียวได้ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ร้านค้าและธุรกิจต่างๆ เกิดการแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้เกิดความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองและทับซ้อนกันได้

5. ทำการสร้างระบบค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุน Infocomm

สิงคโปร์ยังมีวิสัยทัศน์อีกว่าการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (R&D) จะสร้างสิทธิบัตรมากมายให้กับธุรกิจ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ Infocomm ในระยะยาว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมและทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ใน 12 หัวข้อคือ

  1. Media Production

  2. Content Distribution

  3. Digital Advertising

  4. Immersive Media

  5. Cyber Security

  6. Internet of Things

  7. Cognitive Computing

  8. Advance Robotics

  9. Big Data & Analytics

  10. Cloud Computing

  11. Software-Defined Systems

  12. Future Communication & Collaboration

ทั้งหมดนี้คือ 5 คอนเซปต์น่าสนใจ (มากๆ) ของการวางแผนแม่แบบที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประเทศสิงคโปร์ แม้ว่าแผนนี้จะวางเป้าหมายไปถึงอีก 10 ปีข้างหน้า แต่มันก็ทำให้พอเห็นแนวทางน่าสนใจว่าเทคโนโลยีต่างๆ นั้นจะมีบทบาทในการพัฒนาชาติอย่างมากในอนาคตโดยมันจะไม่ใช่แค่การทำให้เกิดความสะดวกสบายเท่านั้น แต่มันจะโยงไปกับอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และอื่นๆ อีกมากมาย

ก็หวังว่าคนไทยเราจะได้มีแบบแผนดีๆ ไม่แพ้เพื่อนบ้านของเราแล้วกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page