top of page

ไม่ต้องคิดใหญ่เสมอไปเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่หลายคนล้วนอยากให้เกิดขึ้นเพื่อก้าวไปข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็กลัวความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ในชีวิตของเราไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงาน เรามักพูดถึงการเปลี่ยนแปลงกันอยู่เสมอ

แต่ก็นั่นแหละที่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เหมือนกับการพูด ถ้าเรามองเรื่องชีวิตการทำงานแล้ว หลายครั้งหลายคราที่เรามีไอเดียเกิดขึ้นมากมายและล้วนอาจนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต แต่ไอเดียเกือบทั้งหมดนั้นแทบจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามัวแต่อยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน บ้างก็ขาดการสนับสนุน และสุดท้ายก็กลายเป็นกระดาษที่ถูกเก็บเข้าลิ้นชักไปในที่สุด

ผมเองก็เป็นคนที่มีไอเดียโน่นนี่อยู่หลายครั้ง และหลายๆ ทีมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง บ้างก็เกิดขึ้นมาแต่ก็ไม่ได้ถูกสานต่อจนกลายเป็นความล้มเหลวไป ซึ่งหลายๆ ครั้งผมก็พยายามรวบรวมบทเรียนว่าเพราะอะไรมันถึงไม่สำเร็จ

ประเด็นหนึ่งที่ผมพบคือหลายๆ ครั้งเรามัก “คิดใหญ่เกินไป” จนทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นดูเกินเอื้อม ดูยากจะเป็นไปได้ในสายตาของหลายๆ คน และทำให้เราท้อจนยกธงขาวในกลางทาง

การคิดใหญ่นั้นเป็นแนวคิดที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนมักได้ยินจากการพูดปลุกใจ บ้างก็เรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจต่างๆ นานาจากความสำเร็จของผู้คนมากมาย การคิดใหญ่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเองก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยอดเยี่ยมได้ไม่แพ้กัน หลายๆ คนถึงขั้นพูดเลยว่าถ้าเสียเวลาคิดในสิ่งเล็กๆ แล้วล่ะก็ อย่าไปเสียเวลากันเลย

ผมว่าบางทีเราก็ถูกหลอกให้ยึดติดกับวิธีคิดนี้โดยลืมบริบทหลายอย่างซึ่งสุดท้ายมันก็เลยไม่ได้เกิดขึ้น การคิดใหญ่นั้นย่อมทำให้มีสิ่งที่ต้องทำเยอะ มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ใช้ระยะเวลามาก และถ้าวางแผนไม่ดีแล้ว สุดท้ายมันก็จะไม่เกิดขึ้น เลิกล้มหรือไม่ก็ถูกหยุดไว้กลางทางอยู่เสมอ

พอเป็นแบบนี้ หลายคนก็เลยเลิกคิด เพราะคิดไปก็ทำไม่ได้ คิดไปก็ดูยากจะเกิดขึ้น

แต่จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้ต้องเกิดจากการคิดใหญ่เสมอไป บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้เช่นกัน

ในละครทีวีญี่ปุ่นเรื่อง CHANGE ตอนสุดท้ายนั้น นายกซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก่อนจะหมดวาระ เขาเรียกประชุมทีมงานเพื่อสร้าง “การเปลี่ยนแปลง” เท่าที่ทำได้ในระยะเวลาดังกล่าว แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงปัญหาบ้านเมืองในภาพใหญ่ ทุกคนก็นึกได้มากมายไม่ว่าจะปัญหาปากท้อง ปัญหามลภาวะ ปัญหาค่าครองชีพ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนจำเป็นต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมากจนไม่สามารถจะทำอะไรได้ในข้อจำกัดที่ทีมงานของพระเอกมี

ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร? ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่แล้วกัน เราเหลือเวลาเท่านี้จะทำอะไรได้

แต่สิ่งที่พระเอกเสนอ (ซึ่งผมยอมรับว่าคนเขียนบทฉลาดมากๆ) คือการยกเลิกเสิร์ฟชาระหว่างการประชุม เนื่องจากแทบไม่มีคนกิน เป็นการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ

ใช่ครับ มันเป็นเรื่องเล็กๆ หยุมหยิมและไม่เคยมีใครสนใจ แน่นอนว่าทุกคนก็อึ้งกับสิ่งที่พระเอกยกขึ้นมา แรกๆ ทุกก็ส่ายหน้า แต่เอาสุดท้าย พวกเขาก็ไปโน้มน้าวทุกฝ่ายให้มาช่วยเหลือ แรกๆ ทุกหน่วยงานก็งงๆ ว่าจะเปลี่ยนแปลงกับเรื่องแบบนี้

แต่เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ นี่เอง ทำให้การเปลี่ยนแปลงทำได้ไม่ยากจนเกินไป และเมื่อมันสามารถเกิดขึ้นได้ มันก็ย่อมกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีใทุกคนรู้ว่าพวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านี้ได้เช่นกัน

หลังจากดูละครแล้วมาย้อนดูตัวเราในชีวิตจริง ผมว่าในชีวิตเราก็เจอเรื่องแบบเดียวกับในละครนั่นแหละครับ เราอยากแก้ไขโน่นนี่ อยากสร้างโน่นสร้างนั่นเพราะเรารู้ว่ามันดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่การคิดที่ใหญ่เกินไปในบางครั้งทำให้เราไม่ได้ทำมัน โปรเจคงานไอเดียสุดบรรเจิดก็จะเป็นแค่ไอเดียถ้ามันใหญ่จนฟังดูยุ่งยากที่จะเริ่มต้น

อย่ามองข้ามการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยครับ บางทีการเริ่มต้นทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่ได้สร้างชื่อเสียง ไม่ได้ทำให้โลกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มันก็ทำให้เส้นทางที่เราเดินเปลี่ยนไปแล้ว และถ้าเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นดี ต่อให้เป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย มันก็ยังเป็นเรื่องดีอยู่วันยังค่ำ

การคาดหวังประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่มีค่าถ้าไม่ได้ลงมือทำ ต่างจากการกระทำแม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

จะเลือกทางไหนก็คิดดูกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page