top of page

ทำไมบริษัทถึงควรมี “ผู้บริหารอายุน้อย” ในบอร์ดบริหารได้แล้ว

วันก่อนผมมีโอกาสนั่งคุยกับผู้บริหารหลายท่านเรื่องการทำ Transformation ในองค์กรที่เหมือนจะติดๆ ขัดๆ บ้างก็ไม่รู้ว่าปรับตัวได้มากแค่ไหนเพราะตัวเองก็อายุไม่น้อยแล้ว จะให้ไปเริ่มเรียนอะไรใหม่ๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

และพอพูดถึงเรื่องนี้ เราก็จะพบว่าผู้บริหารหลายคนก็เริ่มกังวลว่าตัวเองจะถูกแทนที่ด้วยผู้บริหารอายุน้อยๆ เช่นคน Gen Y ที่จะก้าวขึ้นมาทำงานบริหารแทน และแน่นอนว่านั่นก็นำไปสู่ประเด็นการเล่นแง่ของการเมืองในบริษัท เช่นการกันท่าไม่ให้คนหนุ่มสาวขึ้นมาบริหาร หรือไม่ก็การเลือกจะจ้างคนทำงานอายุงานเยอะๆ เข้ามาในบริษัทเพราะดู “มีประสบการณ์” มากกว่า ไหนจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการที่จะต้องยุ่งขึ้นถ้ามีหนุ่มสาวขึ้นมาเป็นหัวหน้าในขณะที่คนอายุงานเยอะๆ กลายเป็นลูกน้อง ฯลฯ

ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องการเติมคนยุคใหม่เข้าไปในบอร์ดบริหารคงเป็นปัญหาที่องค์กรจำนวนมากคงจะต้องเจอในช่วง 4-5 ปีนี้จาก Digital Trasnformation ด้วยเรื่องของความสามารถและศักยภาพของเขาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

แต่เรื่องที่วันนี้ผมมาพูดว่าทำไมองค์กรควรมีผู้บริหารที่อายุน้อยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องของความสามารถอะไรหรอกนะครับ หากแต่เป็นเรื่องของบรรยากาศมากกว่าต่างหาก

1. การสร้างบรรยากาศ Active ให้กลุ่มผู้บริหาร

เราต้องยอมรับกันก่อนว่าปรกติแล้วกลุ่มผู้บริหารนั้นมักจะอายุไปมากกว่า 40-50 ปี ซึ่งแน่นอนว่าคนอายุนั้นเวลาคุยกันก็คงอารมณ์เหมือนสภากาแฟที่เราเห็นกันเป็นภาพจำ แน่นอนว่าความแอคทีฟต่างๆ นั้นย่อมไม่เท่ากับคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว ฉะนั้นมันคงจะดีไม่น้อยถ้าการที่เรามีคนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อยและเป็นคนที่มีบุคลิกประเภท Active เข้ามาในห้องประชุม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการระดมสมอง เพราะมันทำให้บรรยกาศการทำงานนั้นดูแอคทีฟขึ้นโดยธรรมชาติจนบางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวเลย

2. การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กลุ่มผู้บริหาร

ข้อหนึ่งที่ผมมักเจอเวลาคุยกับผู้บริหารหลายๆ บริษัทคือพอผู้บริหารระดับสูงอยู่ด้วยกัน มันก็เหมือนกับการที่เอาคนรุ่นราวคราวเดียวกัน รู้เหมือนๆ กัน และประสบความสำเร็จแบบเดียวกันมาอยู่ด้ยกัน ผลที่ตามมาคือคนเหล่านี้มักจะไม่ได้เติมอะไรใหม่ๆ ให้กันและกัน ส่วนหนึ่งเพราะทำงานมากันเยอะแล้ว ก็คิดว่ารู้กันแล้ว อีกประการหนึ่งคือพอต่างคนต่างรู้พอๆ กัน มันก็เลยไม่รู้จะเติมอะไรให้กัน

ด้วยเหตุนี้ การที่มีคนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งมักจะตื่นเต้นกับเทคโนโลยี ชื่นชอบกับการลองโน่นลองนี่ เป็นคนประเภท “วิ่งหาความรู้” มากกว่า “รอความรู้” มาอยู่ในองค์กร มันก็เหมือนกับการเติมเชื้อของการเรียนรู้ให้กลายเป็นบรรยากาศของคณะทำงานไป

จากประสบการณ์ของผม เวลาทำงานกับองค์กรที่มีคนประเภทนี้อยู่ในบอร์ดบริหารนั้นเป็นเรื่องที่สนุกมากๆ เพราะจะมีการแชร์อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาแทนที่จะทำอะไรแบบเดิมๆ ผู้ใหญ่หลายคนที่ผมรู้จักก็บอกว่าการมีลูกน้องหรือทีมงานที่เป็นคนประเภทนี้อยู่ใกล้ตัวก็ช่วยทำให้ตัวเองรู้สึก Fresh และตื่นเต้นกับการเรียนรู้ตามไปด้วย

3. การได้ “ไม่รู้” และ “ตั้งคำถามใหม่” เสียบ้าง

เวลาเราพูดถึงผู้บริหารส่วนใหญ่ในองค์กรปัจจุบันนั้นมักเป็นคนที่ทำงานกันมานาน มีประสบการณ์กันมามากมาย ซึ่งพอเป็นแบบนั้นแล้วก็เลยไม่แปลกที่หลายๆ คนจะเป็นคนที่ “มากประสบการณ์” จนกลายเป็น “ผู้รู้” ขององค์กรไป และเราก็มักจะสร้างบอร์ดบริหารที่เอาผู้รู้จำนวนมากนี้มาอยู่ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมมักจะเตือนผู้บริหารหลายคนที่มีโอกาสได้คุยหรือบรรยาย คือการที่เรารู้นั้นดี แต่จะดีกว่าถ้ามีคนที่กระตุกให้เรารู้ตัวว่าเรา “ไม่รู้” เพราะหลายๆ ครั้งที่เราทำงานไปนานๆ เราก็จะคิดว่าเรารู้ไปเสียหมด ทุกอย่างที่เราทำนั้นถูกต้องตามความรู้ของเรา แต่เอาจริงๆ มันมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้และอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นขององค์กรและต่อตำแหน่งของเราก็ได้

การมีผู้บริหารยุคใหม่เข้ามา “ตั้งคำถาม” หรือพูดในสิ่งที่คนก่อนๆ “ไม่รู้” อาจจะเหมือนการท้าทายสำหรับหลายๆ คน แต่เอาจริงๆ มันคือการกระตุกให้ผู้บริหารหลายๆ ท่าน (ถ้าเปิดใจ) ได้เห็นว่ามันอาจจะมีมุมมองใหม่ๆ ที่มองข้ามไป หรือมีหลายๆ สิ่งที่ผู้บริหารควรรู้ในวันนี้และเราไม่เคยทราบเพราะวุ่นกับการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งเรื่องของการตั้งคำถามและกล้าพูดในประเด็นที่คนมักมองข้ามเป็นลักษณะที่เห็นได้มากกับเด็กยุคใหม่ แน่นอนว่ามันอาจจะดูน่ารำคาญอยู่บ้างแต่ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ เราก็จะพบว่ามันช่วยกระตุ้นความคิดของเราได้อีกมากมายเลยทีเดียว

สามข้อข้างต้นเป็นเรื่องเบื้องต้นที่ผมคิดเวลาถามว่าการมีผู้บริหารยุคใหม่ที่อายุน้อยๆ เข้ามาในบอร์ดบริหาร คณะทำงาน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นผู้ช่วยของผู้บริหารนั้นจะดีอย่างไรนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page